การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ให้กับกิจการและสังคมไปพร้อมกันเพื่อความสำเร็จในระยะยาว บทบาทของธุรกิจต่อสังคมในบริบทของ CSV นั้นตั้งอยู่บนฐานคิดแบบระยะยาว (Long-term Thinking) เน้นการสร้างประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นและสังคมให้เกิดเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน แนวคิดของการสร้างคุณค่าร่วม พัฒนาขึ้นโดย ศ.ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ เพื่อต้องการแก้โจทย์ความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างความต้องการของสังคมและของธุรกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ธุรกิจที่ต้องการดำเนินอยู่บนวิถีของ CSV จำเป็นต้องสร้างคุณค่าให้แก่สังคมควบคู่กับการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น เพื่อให้เกิดเป็นผลสำเร็จในระยะยาว





กำเนิด CSV
เนื่องจากคำว่า Shared Value เป็นคำทั่วไป จึงมีที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะการใช้ในเรื่อง CSV เพียงแต่ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ นำคำว่า Shared Value มาอธิบายสิ่งที่เป็นการตกผลึกทางความคิดนับตั้งแต่บทความชิ้นแรกๆ ที่ชื่อว่า “Philanthropy’s New Agenda: Creating Value” ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1999 โดยกล่าวถึงการ

สร้างคุณค่าขององค์กรสาธารณกุศลในบริบทใหม่ และบทความ “The Competitive Advantage of Corporate Philanthropy” ในปี ค.ศ.2002 ที่เริ่มพูดถึงการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมจากกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจ จนมาถึงบทความ “The Link Between Competitive Advantage and Corporate Social Responsibility” ในปี ค.ศ.2006 ที่ปรากฏคำว่า Shared Value เป็นครั้งแรกภายใต้การดำเนินกิจกรรม CSR เชิงกลยุทธ์ของภาคธุรกิจ และนำมาสู่บทความ “The Big Idea: Creating Shared Value” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2011 ที่ถือว่าเป็นการให้กำเนิดเรื่อง CSV อย่างเป็นทางการ

ทำไมต้องเป็น CSV
ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ชี้ให้เห็นถึงมุมมองหรือท่าทีที่องค์กรธุรกิจมีต่อประเด็นปัญหาทางสังคม จากระดับต่ำสุดที่ไม่ได้ตระหนักว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาแก่องค์กร จึงแสดงออกด้วยการเพิกเฉย หรือรับผิดชอบให้น้อยที่สุด และหากเลี่ยงไม่ได้ ก็จะใช้วิธีการบริจาคเป็นทางออก

ระดับต่อมา คือ ตระหนักว่าเป็นปัญหาแก่องค์กร จึงเพิ่มกิจกรรมการบริจาคให้มากขึ้น ใช้การประชาสัมพันธ์ และการสร้างสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย เป็นเครื่องมือดำเนินการ

ระดับที่ถัดขึ้นมาอีกขั้น คือ สำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการแก้ไขปัญหา หรือใช้ความถนัดที่องค์กรมีอยู่จัดการ ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินการกับปัญหานั้นๆ

ส่วนระดับที่ Shared Value จะเกิดขึ้น คือ การพิจารณาว่าเป็นโอกาส แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งจะเปิดทางให้องค์กรสามารถเห็นช่องทางในการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ขยายการเติบโตของรายได้ และสร้างความแตกต่างในคุณค่าที่นำเสนอเหนือองค์กรอื่น



 



ลักษณะของ CSV
การสร้างคุณค่าร่วมตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ มิใช่การแบ่งปันหรือส่งมอบคุณค่าที่ได้เกิดขึ้นแล้วในรูปของการบริจาคหรือ Philanthropy เช่น การคืนกำไรสู่สังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมนอกกระบวนการธุรกิจและเกิดขึ้นภายหลัง (CSR-after-process)คุณลักษณะของ CSV จะต้องมี “ภาวะคู่กัน” (Duality) ของคุณค่าที่เกิดขึ้นทั้งต่อองค์กรและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน ทำให้การริเริ่ม CSV จึงต้องคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการ คือ ความท้าทายหรือโอกาสทางธุรกิจ ประเด็นปัญหาทางสังคมที่รอการแก้ไข ความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่องค์กรมีอยู่

ปัจจัยแรกก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจในรูปของรายได้ ผลกำไร ส่วนแบ่งตลาด การสร้างตลาดใหม่ การลดค่าใช้จ่ายหรือลดความสูญเสียในด้านต่างๆ ปัจจัยที่สองก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมในรูปของการพัฒนา การแก้ไขเยียวยา การยกระดับคุณภาพชีวิต การรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาสหรือความเป็นธรรมในสังคมในด้านต่างๆ ส่วนปัจจัยที่สามก่อให้เกิดผลิตภาพที่ทำให้การส่งมอบผลลัพธ์ทั้งทางธุรกิจและทางสังคมมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเต็มคุณค่า


ความแตกต่างของ CSV
จุดยืนของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ในเรื่อง CSV เน้นการได้มาซึ่งคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างคุณค่าทางสังคม เป็นการใช้วิถีทางในกรอบของทุนนิยมเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคม คำนึงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสังคมที่สามารถขยายขนาดของการดำเนินการและยั่งยืนในตัวเอง

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ได้ขยายความเพิ่มเติมไว้ว่า CSV มิใช่การแบ่งปันคุณค่าที่เกิดขึ้นแล้วหรือมีอยู่แล้วให้แก่สังคมในรูปของการบริจาคหรือโครงการสาธารณกุศล มิใช่การดำเนินตามมาตรฐานทางจริยธรรมและยึดค่านิยมส่วนบุคคลเป็นที่ตั้ง มิใช่การสร้างสมดุลในผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย และที่สำคัญและท้าทายอย่างยิ่ง คือ CSV มิใช่เรื่องเดียวกันกับความยั่งยืน

     การสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ (Products) ขึ้นใหม่ที่เป็นความต้องการของสังคม โดยเฉพาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ระดับของการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพโดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chains) และระดับของการพัฒนากลุ่มความร่วมมือ (Cluster) ในท้องถิ่นที่เอื้อต่อธุรกิจ



ตัวอย่างของ CSV ในระดับผลิตภัณฑ์ (Products) ได้แก่ โปรแกรมสินเชื่อรับประกันการประหยัดพลังงานกสิกรไทย (K-Energy Saving Guarantee Program) ที่ธนาคารให้แก่ผู้ประกอบการในรูปของสินเชื่อลีสซิ่ง / เช่าซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ และ/หรือ เงินกู้ระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการจัดการด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้บริการจากบริษัทจัดการด้านพลังงาน (Energy Service Company - ESCO) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างครบวงจร และมีการรับประกันผลการประหยัดพลังงานที่ได้จากการลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่าผลการประหยัดพลังงานที่ได้จากการลงทุนในโครงการจะเป็นแหล่งที่มาหลักของการชำระคืนเงินกู้ของลูกค้า (Self-Financing Project) โดยไม่กระทบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปกติของกิจการ ผลจากการลดต้นทุนการใช้พลังงาน นอกจากจะเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมและการใช้พลังงานของประเทศโดยรวมแล้ว ยังทำให้กิจการมีสถานะทางการเงินและความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นในระยะยาว


ตัวอย่างของ CSV ในระดับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chains) ได้แก่ การนำเทคโนโลยีควบคุมการก่อสร้างบ้านแบบ Real Estate Manufacturing (REM) ของพฤกษา เรียลเอสเตทที่ประยุกต์มาจากกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม ด้วยการวางแผนการทำงานร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ส่งมอบในห่วงโซ่คุณค่าให้รับผิดชอบเฉพาะในส่วนงานที่ตนเองมีความถนัดเพียงกิจกรรมเดียว จนสำเร็จทั้งเฟส หรือโครงการ ณ จุดก่อสร้าง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการก่อสร้างสูงสุด มีการควบคุมกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสม มีจังหวะการทำงานที่แน่นอน มีการทำงานอย่างต่อเนื่องในสายการก่อสร้างระหว่างผู้รับเหมาและผู้ส่งมอบแต่ละราย มีระบบการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพระหว่างการก่อสร้างในทุกขั้นตอนทำให้ย่นระยะเวลาก่อสร้างเฉลี่ยจาก 45 วัน เหลือเพียง 21 วัน จนเป็นผลให้บริษัทสามารถส่งมอบบ้านที่มีคุณภาพในมาตรฐานเดียวกันและในเวลาอันรวดเร็วให้แก่ลูกค้


ตัวอย่างของ CSV ในระดับกลุ่มความร่วมมือ (Cluster) ได้แก่ สถานีบริการน้ำมันสหกรณ์ ที่ บางจาก ปิโตรเลียม เริ่มต้นจากแนวคิด “น้ำมันแลกข้าว” เพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนปัจจัยในการยังชีพ โดยบริษัทนำข้าวไปบริจาคให้เป็นอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนรอบโรงกลั่น ส่วนสหกรณ์นำน้ำมันของบริษัทในราคาถูกไปจำหน่ายให้แก่สมาชิก พัฒนาเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจจนยกระดับสู่ธุรกิจสมัยใหม่ในรูปแบบของการจัดตั้งเป็นสถานีบริการน้ำมัน สหกรณ์และสถานีบริการน้ำมันชุมชนโดยลำดับ ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันชุมชน ซึ่งมีคนในชุมชนเป็นสมาชิกและเจ้าของจำนวน 618 สถานี เป็นวิถีการดำเนินธุรกิจที่มีวิธีคิดและวัฒนธรรมที่อุ้มชูกันและกัน ให้โอกาสคนไทยได้เป็นเครือข่ายร่วมธุรกิจ ที่นอกจากสร้างรายได้จากยอดขายน้ำมันแล้ว สมาชิกของชุมชนยังได้รับเงินปันผลปลายปี เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวที่เป็นสมาชิกอีกกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน


     Shared Value Initiative ที่เกิดจากความริเริ่มของ Foundation Strategy Group (FSG) องค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งก่อตั้งโดย “ไมเคิล อี พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” เพื่อนำแนวคิด CSV ที่ทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น แปลงไปสู่ “ภาคปฏิบัติ” ได้จัดทำเครื่องมือ SVOI (Shared Value Opportunity Identification) ขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาความริเริ่มด้าน CSV ที่เหมาะสมกับองค์กร และสอดคล้องกับแง่มุมความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ วิธีการระบุโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม ด้วยเครื่องมือ SVOI มีกระบวนการที่ประกอบด้วย การทบทวนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินอยู่ (Review Existing Investments) การพัฒนาภูมิภาพของประเด็น (Develop a Landscape of Issues) การคัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม (Screen Issues for Shared Value Potential) และการจัดลำดับความสำคัญในโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม (Prioritize Shared Value Opportunities) ซึ่งแสดงได้ ดังแผนภาพ

Shared Value Opportunity Identification Process


     การสร้างคุณค่าร่วมที่มุ่งเน้นการพัฒนา ‘Products’ เพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคม ตัวอย่างตัวชี้วัดทางธุรกิจ อาทิ ยอดรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น การเติบโตของตลาด ขีดความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น และตัวอย่างตัวชี้วัดทางสังคม อาทิ ระบบการดูแลผู้ป่วยได้รับการปรับปรุง ปริมาณรอยเท้าคาร์บอนลดลง โภชนาการที่ดีขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น

การสร้างคุณค่าร่วมที่มุ่งเน้นการยกระดับ ‘Value Chains’ โดยใช้ประเด็นทางสังคมมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาผลิตภาพร่วมกับคู่ค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า ตัวอย่างตัวชี้วัดทางธุรกิจ อาทิ ต้นทุนลดลง การมีแหล่งจัดหาที่มั่นคง ผลิตภาพดีขึ้น คุณภาพดีขึ้น ขีดความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น และตัวอย่างตัวชี้วัดทางสังคม อาทิ ยอดการใช้พลังงานลดลง ยอดการใช้น้ำลดลง ยอดการใช้วัตถุดิบลดลง ทักษะในการทำงานดีขึ้น รายรับของพนักงานดีขึ้น การสร้างคุณค่าร่วมที่มุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มความร่วมมือแบบ ‘Cluster’ ในระดับท้องถิ่นที่เอื้อต่อธุรกิจ ตัวอย่างตัวชี้วัดทางธุรกิจ อาทิ ต้นทุนลดลง การมีแหล่งจัดหาที่มั่นคง โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการกระจายสินค้าและบริการดีขึ้น ระดับการเข้าถึงแรงงานสูงขึ้น ขีดความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น และตัวอย่างตัวชี้วัดทางสังคม อาทิ การศึกษาที่ดีขึ้น การสร้างงานเพิ่มขึ้น สุขภาวะที่ดีขึ้น รายรับที่ดีขึ้น

     เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้จัดทำเนื้อหาที่อ้างอิงถึง Shared Value เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และข้อมูลในหลายแหล่ง ได้มีการพัฒนาต่อเติมจากแนวคิด CSV ดั้งเดิม รวมทั้งมีการนำ CSV ไปดัดแปลงใช้ในบริบทเฉพาะตน เรียกว่า Corporate Shared Value บ้าง หรือ Customer Shared Value บ้าง ซึ่งมีความแตกต่างจากการสร้างคุณค่าร่วมตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ สำหรับผู้สนใจที่ต้องการค้นคว้าข้อมูลเรื่อง CSV ในฉบับที่เป็นต้นตำรับ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
http://www.sharedvalue.org/
http://www.isc.hbs.edu/creating-shared-value

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือ “กลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคม: Creating Shared Value (CSV)” ประมวลบทความที่เกี่ยวข้องกับ CSV และเผยแพร่กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ CSV ไว้ที่เว็บไซต์เครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Thai CSR Network) ผู้สนใจข้อมูลดังกล่าว สามารถเข้าถึงได้ที่
http://bit.ly/creatingsharedvalue