(Image courtesy of John Kasawa at FreeDigitalPhotos.net)

 

     ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ (Extractives) อาทิ การทำเหมืองแร่ การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมโลหะขั้นมูลฐาน เป็นกิจการที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และถือเป็นธุรกิจที่อยู่ต้นน้ำในระบบเศรษฐกิจ ด้วยสภาพของธุรกิจที่แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญหลักของธุรกิจ ประกอบกับแหล่งทรัพยากรที่จะนำมาใช้ประโยชน์ มักอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่เหล่านั้นยังขาดการพัฒนา ซึ่งกลายเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจที่สัมพันธ์กับระดับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ

ใหากกิจการมิได้ตระหนักว่า ผลกระทบต่อชุมชนที่เกิดจากการประกอบการ เป็นปัญหาแก่องค์กร ความรับผิดชอบต่อสังคมจะอยู่ในระดับต่ำ กิจการอาจแสดงออกด้วยการเพิกเฉย หรือรับผิดชอบให้น้อยที่สุด และหากเลี่ยงไม่ได้ ก็จะใช้วิธีการบริจาคเป็นทางออกแต่หากกิจการเริ่มตระหนักว่า เป็นปัญหาแก่องค์กร ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมจะเพิ่มขึ้น กิจการจะใช้การสร้างสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ใช้การประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือดำเนินการ และเพิ่มกิจกรรมการบริจาคมากขึ้น จนกระทั่งกิจการเกิดสำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการแก้ไขปัญหา จัดการ ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินการกับปัญหาจนลุล่วง


สำหรับกิจการที่เพิ่มระดับความรับผิดชอบต่อสังคม จนสามารถดูแลและจัดการกับผลกระทบทางลบได้ดีแล้ว สามารถดำเนินการยกระดับมาสู่การส่งมอบผลกระทบในทางบวก ด้วยการพิจารณาเป็นโอกาสของธุรกิจในการร่วมพัฒนาชุมชน เสริมสร้างปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่ จากการใช้สินทรัพย์และความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ การเข้าร่วมกับหุ้นส่วนดำเนินการภายนอก ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ (Governments) องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และสมาคมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม (Sector and Industry Associations) เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน




ในระดับผลิตภัณฑ์ กิจการสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผลิต อาทิ น้ำชลประทาน หรือน้ำเพื่อการบริโภค ไฟฟ้า มาจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น ในระดับห่วงโซ่คุณค่า กิจการสามารถปรับปรุงสมรรถภาพของแรงงานท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ส่งมอบในห่วงโซ่คุณค่า เพิ่มสมรรถภาพในการเตรียมพร้อม เผชิญเหตุ และฟื้นฟูสภาพจากภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินในท้องถิ่น ปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ พลังงาน และทรัพยากรอื่นๆ ในแหล่งดำเนินงาน ในระดับกลุ่มความร่วมมือ กิจการสามารถพัฒนาความร่วมมือในท้องถิ่นที่เอื้อต่อธุรกิจ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโลจิสติกส์สำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกัน เข้าเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มความร่วมมืออื่นในท้องถิ่น ดำรงบทบาทเชิงรุกในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจในวงกว้าง ปรับปรุงขีดความสามารถด้านธรรมาภิบาลทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ

ตัวอย่างการสร้างคุณค่าร่วมในระดับกลุ่มความร่วมมือ ได้แก่ สถานีบริการน้ำมันสหกรณ์ ที่ บางจาก ปิโตรเลียม เริ่มต้นจากแนวคิด “น้ำมันแลกข้าว” เพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนปัจจัยในการยังชีพ โดยบริษัทนำข้าวที่ได้รับจากสหกรณ์ไปบริจาคให้เป็นอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนรอบโรงกลั่น ส่วนสหกรณ์นำน้ำมันของบริษัทในราคาถูกไปจำหน่ายให้แก่สมาชิก พัฒนาเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจจนยกระดับสู่ธุรกิจสมัยใหม่ในรูปแบบของการจัดตั้งเป็นสถานีบริการน้ำมันสหกรณ์และสถานีบริการน้ำมันชุมชนโดยลำดับ ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันชุมชน ซึ่งมีคนในชุมชนเป็นสมาชิกและเจ้าของจำนวน 618 สถานี เป็นวิถีการดำเนินธุรกิจที่มีวิธีคิดและวัฒนธรรมที่อุ้มชูกันและกัน ให้โอกาสคนไทยได้เป็นเครือข่ายร่วมธุรกิจ ที่นอกจากสร้างรายได้จากยอดขายน้ำมันแล้ว สมาชิกของชุมชนยังได้รับเงินปันผลปลายปี เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวที่เป็นสมาชิกอีกกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน