(Image courtesy of Photokanok at FreeDigitalPhotos.net |
|
ธุรกิจด้านสุขภาพ ในกลุ่มเภสัชภัณฑ์ เทคนิคการแพทย์ หรือเทคโนโลยีการอาหาร เป็นกิจการที่มีโอกาสสร้างคุณค่าร่วม โดยใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ในธุรกิจหลักได้อย่างชัดเจน และเป็นธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโตสูง เนื่องจากฐานตลาดของผลิตภัณฑ์ในธุรกิจสามารถขยายครอบคลุมไปยังส่วนตลาดที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีฐานรายได้ต่ำ (Bottom of the Pyramid) หรือกลุ่มชายขอบที่ยากต่อการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการ (Corners of the Pyramid) ในรูปแบบที่ธุรกิจสามารถออกแบบหรือดัดแปลงเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาด้านสุขภาพที่คนกลุ่มเหล่านี้เผชิญอยู่
หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการที่ธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงคนสองกลุ่มนี้ คือ การขาดแรงจูงใจทางธุรกิจ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานและช่องทางการจัดจำหน่ายไม่เอื้ออำนวย เกิดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงจนไม่คุ้มค่ากับการดำเนินงาน ตลาดของธุรกิจด้านสุขภาพจึงถูกจำกัดวงอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง หรือที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่
แต่แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น คือ ภาวะอิ่มตัวของผลิตภัณฑ์ (ที่เป็นแบบเดียวกัน) ในตลาดกลุ่มนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากต่างก็ต้องการเข้าถึงตลาดกลุ่มเดียวกันนี้พัฒนาการในธุรกิจด้านสุขภาพ ยังเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม หรือสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค คำนึงถึงการผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อประเด็นด้านสุขภาพของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น มีการใช้สารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดการใช้สารเคมีหรือสารปรุงแต่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพิ่มการใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์ ผลักดันให้เกิดตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงสุขภาพ เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่มีแบบแผนการใช้ชีวิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพและความยั่งยืน ซึ่งนับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
กิจการที่มีศักยภาพในการคิดค้น พัฒนา หรือดัดแปลงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ด้วยการใช้สินทรัพย์และความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าร่วม (CSV) ในที่นี้ สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเภสัชภัณฑ์และเทคนิคการแพทย์ (Pharmaceutical and Medical Technology) กลุ่มเทคโนโลยีการอาหาร (Food Technology) และกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer Products)
ในระดับผลิตภัณฑ์ กิจการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนน้อยและต้นทุนต่ำเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงในตลาดท้องถิ่น มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับคนชั้นฐานราก ด้วยคุณภาพในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ในระดับห่วงโซ่คุณค่า กิจการสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิต ช่องทางการขายและการจัดจำหน่ายให้เหมาะกับสภาพท้องถิ่นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับการรักษาได้ดียิ่งขึ้น มีการขยายช่องทางการบริการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล ในระดับกลุ่มความร่วมมือ กิจการสามารถเสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง เอื้อต่อการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นมีการขยายบทบาทการให้ความรู้เรื่องสุขภาพแก่ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น